การปกครองสมัยสุโขทัยตอนต้น พ.ศ. 1792 – 1841
เมื่อขอมมีอำนาจปกครองสุโขทัยอยู่นั้น การปกครองมีลักษณะคล้ายนายปกครองบ่าว ซึ่งขัดกับลักษณะนิสัยของคนไทยที่รักความเป็นอิสรเสรี เมื่อขับไล่ขอมไปได้ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงจัดระบลบการปกครองเสียใหม่ เป็นการปกครองเสมือนหนึ่งประชาชนทุกคนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าครอบครัว คือ พระมหากษัตริย์ปกครองประชาชนในลักษณะบิดาปกครองบุตร หรือที่มีผู้เรียกว่า เป็นการปกครองในระบบ ปิตุราชาธิปไตย ซึ่งมีลักษณะสำคัญดังนี้
1. รูปแบบการปกครองเป็นการปกครองแบบราชาธิปไตย คือ พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะเป็นผู้ปกครองสูงสุด ทรงเป็น
ผู้ใช้อำนาจอธิปไตย
2. พระมหากษัตริย์ทรงมีความสัมพันธ์กับราษฎรเสมือนบิดากับบุตร มิได้มีฐานะแตกต่างจากราษฎรมากนัก กล่าวคือ
พระมหากษัตริย์เปรียบได้กับหัวหน้าครอบครัวหรือพ่อ พระมหากษัตริย์สมัยสุโขทัยตอนต้น มักใช้พระนามว่า พ่อขุน เช่น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนผาเมือง พ่อขุนรามคำแหง เป็นต้น อันสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนว่ามีความใกล้ชิดกัน
3.ลักษณะการปกครองระบบครอบครัวลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ นอกจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเสมือนบิดาของราษฎรแล้ว
ยังมีการจัดระบบการปกครอง ให้ครัวเรือนหลายครัวเรือนหลายครัวเรือนรวมกันเป็นบ้าน อยู่ในความดูแลของ พ่อบ้าน ผู้อยู่ในปกครองเรียกว่า ลูกบ้าน หลายบ้านรวามเป็น เมือง มีผู้ปกครองเรียกว่า พ่อเมือง เมืองหลายเมืองรวมกันเป็น ประเทศ อยู่ในปกครองของ พ่อขุน แสดงให้เห็นว่านอกจากพ่อขุนผู้เป็นประมุขสูงสุดแล้ว ยังมีผู้ปกครองที่ได้รับมอบหมายจากพ่อขุน ทำหน้าที่เป็นกลไกทางการปกครองอีกด้วย
4. พระมหากษัตริย์ทรงยึดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาในการบริหารบ้านเมือง และทรงชักชวนให้ประชาชนปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ดังจะเห็นได้จากข้อความในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งกล่าวไว้
ดังนี้ “..........พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัยนี้ ปลูกไม้ตาลนี้ไว้สิบสี่ข้าว จึ่งให้ชางฟันขดานหินตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้ วันเดือนดับเดือนโอกแปดวัน วันเดือนเต็มเดือนบ้างแปดวัน ฝูงปู่ครู เถร มหาเถร ขึ้นนั่งเหนือขดานหินสูดธรมแก่อุบาสกฝูงท่วยจำศีล......”
การที่พ่อขุนรามคำแหงทรงให้พระเถระทังหลายนำหลักธรรมทางพระพุทะศาสนามาเผยแผ่ สั่งสอนราษฎรให้เป็นผู้ประพฤติดีประพฤติชอบตามหลักธรรม ก็เพื่อจะให้ราษฎรเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาพุทธ โดยพระองค์ทรงนำทางเป็นตัวอย่าง คือ ทรงให้พระเถระเทศนาสั่งสอนที่กลางดงตาลในวันสิ้นเดือน (วันเดือนดับ) วันขึ้นแปดค่ำ (เดือนโอกแปดวัน) วันเพ็ญ (วันเดือนเต็ม) และวันแรมแปดค่ำ (เดือนบ้างแปดวัน) เป็นประจำ เป็นการนำธรรมะมาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจทำให้เกิดความสามัคคีเป็นประโยชน์ต่อการปกครอง ดังศิลาจารึกที่กล่าวไว้ดังนี้ “.......คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศลี มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้าท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน.........”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น